ประวัติกีฬาว่ายน้ำสากลและไทย

ประวัติกีฬาว่ายน้ำสากลและไทย

กีฬาว่ายน้ำถือว่าเป็นกิจกรรมงานอดิเรกที่คนรุ่นใหม่ชื่นชอบ เพราะการได้ออกกำลังกายในน้ำจะได้รับความเย็นสบายสดชื่น เหนื่อยน้อยกว่าการวิ่ง และเป็นที่รู้กันว่าสามารถบริหารร่างกายได้หลายส่วนพร้อมกัน

ที่มาของกีฬาว่ายน้ำนั้น กล่าวกันว่ามาจากการใช้ชีวิตของชาวกรีกและโรมันอยู่ในพื้นที่ภูมิศาสตร์ที่มีแม่น้ำสายใหญ่ไหลผ่าน เช่น แม่น้ำไนล์ ทำให้ต้องฝึกว่ายน้ำการตั้งแต่อายุน้อย ๆ จนมีทักษะติดตัวที่ใช้ในการเอาตัวรอดและประกอบอาชีพต่าง ๆ ด้วย หากคุณสงสัยว่าเขาว่ายน้ำด้วยท่าทางอย่างไร มีการบันทึกเป็นหลักฐานไว้ว่าเป็นท่าว่ายน้ำที่เรียกว่า Human Stroke มีท่าทางการขยับตัวคล้ายกับการว่ายท่ากบ เน้นเพื่อช่วยพยุงน้ำหนักตัว แต่ไม่เน้นความรวดเร็วและสวยงาม

ต่อมาหลายสิบปีจึงมีการจัดการแข่งขันว่ายน้ำครั้งแรกของโลกเมื่อปี พ.ศ. 2416 ในประเทศอังกฤษ ที่เมืองลอนดอน โดยมีกติกากำหนดท่าว่ายน้ำในการแข่งขันสากล คือ การว่ายน้ำแบบฟรีสไตล์ โดยลักษณะท่าทาง คือ การยกแขนซ้ายขวาสลับกันเหนือน้ำ หรือที่เรียกว่าท่าว่ายน้ำแบบทรัดเจน Trudgen stroke

สำหรับคนไทยนั้น ก็มีการว่ายน้ำเป็นหนึ่งในทักษะการใช้ชีวิตเช่นกัน โดยเฉพาะสมัยก่อนที่มีแม่น้ำลำคลองไหลผ่านจังหวัดต่าง ๆ มากมาย แต่การจัดการแข่งขันว่ายน้ำครั้งแรกในประเทศไทยนั้น เกิดภายหลังจากการที่กีฬาว่ายน้ำได้ถูกจัดเป็นหนึ่งในประเภทกีฬาสากลของโอลิมปิกเมื่อปี พ.ศ. 2436 อยู่หลายสิบปี

โดยมีการรวมกลุ่มกันจัดตั้งเป็นสมาคมว่ายน้ำสมัครเล่นแห่งประเทศไทย และได้การจดเป็นทะเบียนภายใต้กรมตำรวจในปี พ.ศ. 2512 โดยผู้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมว่ายน้ำคนแรกของไทย คือ พลเรือโท สวัสดิ์ ภูติอนันต์

หลังจากนั้น ทางสมาคมฯ ก็ได้สมัครเข้าร่วมเป็นหนึ่งในสมาชิกของสหพันธ์ว่ายน้ำนานาชาติในปี พ.ศ. 2540 ทำให้ดำเนินกิจการสนับสนุนกีฬาประเภทนี้เรื่อยมา และได้รับเงินงบประมาณเพื่อการสร้างสระว่ายน้ำมาตรฐาน ซึ่งใช้ในการแข่งขันกีฬาครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2506 ด้วย และในภายหลัง สมาคมว่ายน้ำสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ก็ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นสมาคมว่ายน้ำแห่งประเทศไทยอย่างในปัจจุบัน เมื่อปี พ.ศ. 2548 เพื่อดูแลการจัดกิจกรรมการแข่งขันว่ายน้ำ รวมถึงกระโดดน้ำ กีฬาโปโลน้ำ และระบำใต้น้ำเพื่อความสวยงามด้วย

การแข่งขันกีฬาว่ายน้ำในปัจจุบันมีท่ามาตรฐานอยู่ 4 ท่า คือ ท่าฟรีสไตล์ กรรเชียง ท่ากบและผีเสื้อ ซึ่งระยะทางว่ายน้ำสั้นที่สุดที่มีการแข่งขัน คือ ระยะ 50 เมตร เพื่อแข่งขันความเร็วของการว่ายฟรีสไตล์ และระยะไกลที่สุดคือ 1,500 เมตรโดยใช้ท่าฟรีสไตล์เช่นกัน

นอกจากการว่ายน้ำเพื่อการแข่งขันเอารางวัลแล้ว เทรนด์การออกกำลังกายในน้ำยังนิยมมากขึ้น เพราะถูกใช้เป็นกิจกรรมบำบัดออกกำลังกายสำหรับผู้ป่วย โดยเฉพาะโรคออฟฟิศซินโดรม หมอนรองกระดูกเสื่อม และโรคเกี่ยวกับกระดูกและกล้ามเนื้อต่าง ๆ รวมถึงช่วยฟื้นฟูสุขภาพของผู้สูงอายุได้ด้วย