การเล่นกีฬาเป็นสิ่งที่ดีต่อสุขภาพ ทำให้ทุกคนมีร่างกายที่แข็งแรง มีจิตใจที่แจ่มใสสดชื่น ทำให้การทำงานในแต่ละวันกระปรี้กระเปร่ายิ่งขึ้น แต่ก็มีอาการบาดเจ็บที่เกิดจากการเล่นกีฬาได้ด้วยเช่นกัน หากประมาทหรือไม่เตรียมพร้อมร่างกายให้ดีพอ
โดยทั่วไปทางการแพทย์แบ่งอาการบาดเจ็บจากกีฬาได้เป็น 2 อย่างคือ การบาดเจ็บแบบเฉียบพลันรุนแรงด้วยอุบัติเหตุ กับการบาดเจ็บแบบเรื้อรังจากการใช้อวัยวะบางส่วนมากเกินไปอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ยังแบ่งการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาได้เป็น 4 ระดับ คือ
1.การบาดเจ็บระดับเล็กน้อย
เช่น เป็นตะคริวในระหว่างการว่ายน้ำ หรือเป็นตะคริวขณะวิ่ง ซึ่งเกิดจากการขาดเกลือแร่โพแทสเซียมและแมกนีเซียม และจากการวอร์มอัพเตรียมพร้อมร่างกายโดยใช้ระยะเวลาน้อยเกินไป
2.การบาดเจ็บระดับปานกลาง
เช่น เส้นเอ็นอักเสบ การบวมที่ข้อเท้า ทำให้รู้สึกเจ็บเมื่อมีการขยับ หากเกิดในระหว่างการแข่งขันแล้วฝืนเล่นต่อ ก็อาจยกระดับความรุนแรงเป็นขั้นที่สามได้ สาเหตุอาจมาจากการลงน้ำหนักเท้า องศาการขยับที่ผิดพลาดในระหว่างการออกกำลังกายท่าทางต่าง ๆ
3.การบาดเจ็บอย่างรุนแรง
เช่น กระดูกแตกหัก ข้อต่อไหล่หลุด มักเกิดในกีฬาที่เสี่ยงต่อการปะทะ เช่น รักบี้ ขับรถแข่ง เทควันโด ยิมนาสติก ฯลฯ ซึ่งต้องรีบหยุดการใช้กล้ามเนื้อส่วนนั้น และรีบทำการเอ็กซเรย์เพื่อตรวจสอบระดับความเสียหายก่อนรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป
4.การบาดเจ็บถึงขั้นเสียชีวิต
เช่น มีเลือดออกในสมองอย่างในกีฬาชกมวย หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว แต่ฝืนออกกำลังกายมากเกินไป หรือไม่สามารถเผชิญกับสภาพอากาศที่ผิดปกติ เช่น การวิ่งในระยะมาราธอน หรืออัลตร้ามาราธอน การปีนเขาสูง ฯลฯ เกิดได้ทั้งจากอุบัติเหตุและขาดการเตรียมพร้อมร่างกายอย่างเหมาะสม
ในเบื้องต้น หากตัวคุณเองหรือคนใกล้ชิดมีอาการบาดเจ็บจากกีฬา อย่าตระหนกตกใจ ต้องรีบตั้งสติแล้วทำการปฐมพยาบาล หากมีแผลให้รีบล้างแผลด้วยน้ำสะอาด แล้วห้ามเลือดแล้วใช้ผ้าก๊อซหรือผ้าสะอาดฉีกเป็นแถบยาวพันห้ามเลือด และประสานกับหน่วยกู้ภัยเพื่อนำส่งโรงพยาบาล
ในกรณีที่มีการบาดเจ็บบริเวณลำคอและศีรษะ หากจำเป็นต้องเคลื่อนย้าย ต้องทำด้วยความระมัดระวัง โดยประคองให้ศีรษะอยู่ในตำแหน่งตรงเสมอ มิเช่นนั้นอาจจะทำให้เส้นเอ็นและเส้นประสาทขาดจากกัน เป็นอันตรายถึงขั้นอัมพฤกษ์อัมพาตหรือเสียชีวิตได้
นอกจากนี้ ยังต้องระวังไม่ให้อาหารน้ำหรืออาหารแก่ผู้ที่บาดเจ็บบริเวณช่วงท้อง และห้ามให้ยาแก้ปวดแก่ผู้ที่บาดเจ็บบริเวณศีรษะเพราะอาจบดบังอาการ ทำให้แพทย์ประเมินความรุนแรงผิดได้
จะเห็นได้ว่าอุบัติเหตุจากการเล่นกีฬานั้นสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ จำเป็นจะต้องระมัดระวังตัวเองด้วยการเตรียมพร้อมร่างกายอย่างเหมาะสม ออกกำลังกายแต่เพียงพอดีตามสมรรถนะร่างกาย ยึดหลักความไม่ประมาทอยู่เสมอ จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุหรือการบาดเจ็บต่ออวัยวะต่าง ๆ ได้