อยากลงสนามไตรกีฬา ต้องเตรียมความพร้อมอย่างไร

ไตรกีฬาเป็นหนึ่งประเภทกีฬาที่ท้าทายความสามารถของคนรักสุขภาพและคนที่มองหาแรงบันดาลใจใหม่ ๆ ในชีวิต ซึ่งกว่าจะมาเป็นนักไตรกีฬาได้นั้น จำเป็นต้องเตรียมความพร้อมทั้งทางร่างกายและจิตใจ (ยังไม่นับเรื่องของอุปกรณ์และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ)

ซึ่งในวันนี้ เราจะขอนำเสนอในส่วนของการเตรียมความพร้อมทางร่างกาย เพื่อผู้ที่เริ่มสนใจในกีฬานี้จะได้นำไปใช้เป็นแนวทางในการฝึกซ้อมได้

อยากลงสนามไตรกีฬา ต้องเตรียมความพร้อมอย่างไร ว่ายน้ำ

เนื่องจากไตรกีฬามีอยู่หลายระยะทางการแข่งขัน และเป็นการรวมความแกร่งความสามารถของสามชนิดกีฬา คือ ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน และวิ่งเข้าด้วยกัน ดังนั้นสำหรับผู้ที่เป็นมือใหม่อยากลองลงสนามไตรกีฬาก็ควรเริ่มจากระยะแบบเบื้องต้น คือ ระยะ sprint โดยจะเป็นการว่ายน้ำในทะเลเปิดเป็นระยะทางไปกลับ คือ 750 เมตร ปั่นจักรยานที่ระยะ 20 กิโลเมตร และปิดท้ายที่การวิ่งเบา ๆ แบบฟันรัน (Fun run) 5 กิโลเมตร

เมื่อรู้แล้วว่าต้องเผชิญกับอะไรบ้างในสนามจริง ก็มาสู่การจัดตารางการซ้อม โดยควรมีทักษะพื้นฐานในกีฬาทั้ง 3 ชนิดนี้ และเป็นผู้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออยู่แล้ว จึงจะสามารถฟิตร่างกายได้ทันภายในเวลาสั้น ๆ คือ ราว 3 เดือน โดยให้เน้นหลักการว่าต้องมีวินัยในการฝึกซ้อมขั้นต่ำ คือ 3 วันในแต่ละสัปดาห์ แต่ถ้าให้ดีที่สุด คือ การกำหนดซ้อม 6 วันทุกสัปดาห์ คือ มีการหยุดซ้อมเพื่อให้ร่างกายได้ผ่อนคลายเพียง 1 วันในแต่ละสัปดาห์เท่านั้น ตัวอย่างวิธีการกำหนดตารางการซ้อม ดังนี้

วันแรกของสัปดาห์ ให้ว่ายน้ำต่อเนื่องยาว 30 นาที โดยไม่ต้องคำนึงถึงเรื่องของเวลาที่ใช้มากนัก เนื่องจากต้องใส่ใจที่การจัดระเบียบร่างกาย ความถูกต้องของเทคนิคการหายใจ และการจัดท่าทางที่เหมาะสม เพราะย่อมเป็นปัจจัยสำคัญต่อความปลอดภัยในการว่ายน้ำระยะไกลท่ามกลางกระแสคลื่นลมในท้องทะเลจริง

วันที่สอง เน้นเรื่องความแข็งแรงของกล้ามเนื้อเป็นหลัก โดยต้องซ้อมวิ่งแบบเน้นความเร็ว หรือที่เรียกว่าวิ่ง sprint หรืออาจอาศัยการวิ่งขึ้นลงบันไดหลาย ๆ ชั้นแทน โดยให้วิ่งช้าและเร็วสลับกันอย่างเป็นระบบ เช่น วิ่งด้วย ความเร็วเพซ 7 ถึง 8 (หมายถึงการวิ่งระยะทางหนึ่งกิโลเมตรในเวลา 7 – 8 นาที) แล้วเพิ่มความเร็วเป็นเพช 3 – 5 ราวหนึ่งนาที วนเช่นนี้ห้าถึงสิบรอบ เป็นต้น

วันที่สาม ให้เพิ่มความเร็วในการว่ายน้ำจากวันแรกและปรับเวลาซ้อมเพิ่มเป็น 45 นาที เพื่อเน้นการเพิ่มความจุของปริมาตรปอด เป็นการสร้างความแกร่งในระบบการหายใจ

วันที่สี่ เป็นการซ้อมปั่นจักรยานอย่างน้อย 45 นาที แล้วตามด้วยการวิ่งต่อเนื่องอีก 20 – 30 นาที เรียกได้ว่าไม่มีการหยุดพักเพื่อให้ร่างกายได้ฝึกสร้างความทนทานต่อกรดแลคติค ซึ่งเป็นของเสียตามธรรมชาติจากระบบเผาผลาญในระหว่างออกกำลังกาย

สำหรับวันที่ห้า ให้กำหนดเป็นวันพักและยืดคลายกล้ามเนื้อก่อนจะทำการซ้อมต่อในวันที่หกและเจ็ดแบบ combo คือ เป็นการผสมทุกกีฬาเข้าในการซ้อมรวดเดียว หรือเน้นที่กีฬาใดเป็นระยะเวลายาวนานและเร็วขึ้นจากการซ้อมปกติ เป็นต้น

จะเห็นได้ว่ากว่าจะเป็นนักไตรกีฬาได้ต้องมีวินัยและกำหนดเป้าหมายของตัวเองให้ชัด ทั้งนี้ต้องสะสมความแข็งแกร่งทั้งทางกายและจิตใจเพื่อความปลอดภัยและลดความเสี่ยงจากการบาดเจ็บจากการแข่งขันด้วย